การบังคับใช้แรงงาน

มิชลินต่อต้านการบังคับใช้แรงงานทุกรูปแบบ ทั้งในพื้นที่ปฏิบัติงานหรือในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ขององค์กร

จากข้อมูลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) ในปี 2559คนราว 25 ล้านคนได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้แรงงาน โดยจากข้อมูลทั่วโลกการบังคับใช้แรงงานพบมากที่สุดในภาคอุตสาหกรรมต่อไปนี้: การทำเหมืองแร่และเหมือนหิน, การท่องเที่ยว, การเกษตร,การเกษตรเพื่ออาหาร, การก่อสร้าง และการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ในประเทศฝรั่งเศส การบังคับใช้แรงงานพบได้ในภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้างและการทำความสะอาด ตลอดจนทุกภาคอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานทักษะต่ำและมีการจ้างเหมาช่วง (Chain Subcontract) ลูกจ้างที่ถูกส่งไปปฏิบัติงานชั่วคราวนอกถิ่นฐานของตน (Posted Workers) และลูกจ้างที่ไม่มีเอกสารประจำตัว (Undocumented Workers)อาจตกอยู่ในสถานการณ์ของการเป็นแรงงานพึ่งพา (Dependency Labor) และการบังคับใช้แรงงานได้

travail_force_travail_des_enfants@2x

คำจำกัดความ

มิชลินไม่ยอมรับการบังคับใช้แรงงานตามคำจำกัดความที่สอดคล้องกับหลักการทั่วไปของกฎหมายระหว่างประเทศซึ่งเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง  ภายใต้คำจำกัดความนี้ การบังคับใช้แรงงานเกิดขึ้นเมื่อลูกจ้างถูกบังคับให้ทำงานหรือให้บริการโดยไม่เต็มใจ โดยไม่จ่ายค่าตอบแทน และ/หรือโดยถูกข่มขู่อย่างผิดกฎหมายด้วยการใช้กำลังบังคับ การหลอกลวง การขู่กรรโชก ภาระหนี้ หรือการยึดเอกสารระบุตัวตน

 

การบังคับใช้แรงงานประกอบด้วย:

  • การให้เซ็นสัญญาซึ่งพนักงานอ่านไม่เข้าใจ ตัวอย่างเช่น สัญญาซึ่งไม่ได้เขียนด้วยภาษาของพนักงาน
  • การบีบบังคับทางร่างกายและจิตใจเพื่อให้พนักงานปฏิบัติงาน ตัวอย่างเช่น การข่มขู่ที่จะไล่พนักงานออกหากไม่ยินยอมปฏิบัติงานที่เสี่ยงอันตราย ซึ่งไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของงานในหน้าที่รับผิดชอบ หรือซึ่งเป็นงานที่พนักงานไม่เคยผ่านการฝึกอบรมมาก่อน
  • การจำกัดอิสรภาพของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ตัวอย่างเช่น การยึดเอกสารระบุตัวตน การบังคับให้นอนในพื้นที่ขององค์กร, การต้องอาศัยนายจ้างเป็นผู้เปิดบัญชีธนาคารให้, การไม่สามารถใช้เวลาว่างได้โดยอิสระ ฯลฯ
  • การทำให้พนักงานมีภาระหนี้ก่อนเริ่มทำงาน ซึ่งส่งผลให้ถูก “ผูกมัดด้วยหนี้”  ในบางภูมิภาค ตัวกลาง (บริษัทจัดหางาน) จะคิดค่าใช้จ่ายสูงมาก (ค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าประกันภัย ฯลฯ) จากผู้สมัครงาน ในขั้นตอนการคัดเลือก การสรรหาพนักงาน หรือ การจ้างงาน โดยจะใช้เวลานานหลายปีกว่าที่พนักงานจะสามารถชำระหนี้จำนวนนี้คืนนายจ้างได้หมด

 

หลักปฏิบัติ

กลุ่มมิชลินมุ่งมั่นที่จะดำเนินการดังต่อไปนี้*

  • กรณีที่ใช้สัญญาจ้างงาน ควรออกแบบสัญญาจ้างงานให้อ่านและเข้าใจได้ง่ายสำหรับพนักงานทุกคน
  • ไม่ทำให้พนักงานต้องทำงานภายใต้ภาวะบีบคั้น และเคารพอิสรภาพของพนักงาน
  • ดูแลให้มั่นใจว่าพนักงานแต่ละรายสามารถเข้าถึงเอกสารระบุตัวตนของตนเองได้โดยอิสระ และสามารถเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาจ้างงานได้เองตามประกาศที่ระบุไว้ในกฎระเบียบท้องถิ่นหรือสัญญาจ้าง
  • ห้ามไม่ให้ซัพพลายเออร์ผู้ให้บริการจัดหางานคิดค่าคอมมิชชั่นหรือค่าธรรมเนียมจากผู้หางาน
  • ทำงานร่วมกับบริษัทจัดหางานที่ให้บริการคัดสรรพนักงานประจำและพนักงานชั่วคราว ซึ่งเคารพหลักการทั่วไปในการจัดหางานอย่างเป็นธรรมของ ILO และไม่ทำให้พนักงานมีภาระหนี้ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการถูกผูกมัดทุกรูปแบบไว้กับนายจ้าง

* ข้อมูลอ้างอิงเหล่านี้มีผลก็ต่อเมื่อมีการใช้สัญญาจ้างงาน

มิชลินต่อต้านการบังคับใช้แรงงานในห่วงโซ่การรับจ้างช่วง โดยระบุภาคอุตสาหกรรม/ซัพพลายเออร์ที่มีความเสี่ยงสูง พร้อมทั้งดำเนินการประเมินและบริหารจัดการความเสี่ยงในห่วงโซ่อุปทาน

อีกทั้งยังเฝ้าระวังกลุ่มแรงงานข้ามชาติเป็นพิเศษ โดยแรงงานข้ามชาติถือเป็นประชากรกลุ่มที่มีความเปราะบางสูงสุดต่อการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน แรงงานส่วนใหญ่ไม่ได้พูดภาษาของประเทศที่ย้ายไปทำงาน จึงมักไม่ได้รับการสนับสนุนจากญาติ ทำให้ต้องพึ่งพาบริษัทจัดหางานและนายจ้างเป็นหลัก

ข้อกำหนดสำหรับผู้ที่ทำงานในพื้นที่ปฏิบัติงานของมิชลิน

ผู้จัดการฝ่ายบุคคล, เจ้าหน้าที่แผนกกฎหมาย และผู้จัดการประจำพื้นที่ปฏิบัติงาน

สิ่งที่ควรทำ

  • กรณีที่ใช้สัญญาจ้างงาน ให้ลงนามในสัญญาจ้างงานโดยระบุรายละเอียดไว้อย่างชัดเจน (สถานที่ทำงาน, เงื่อนไขการผิดสัญญา, หมายเหตุ ฯลฯ) และเขียนสัญญาจ้างงานโดยใช้ภาษาที่พนักงานสามารถเข้าใจได้ง่าย
  • ทำให้มั่นใจว่า ในขั้นตอนสรรหาบุคลากรโดยบริการของมิชลิน ไม่มีการคิดค่าธรรมเนียมจัดหางานจากผู้สมัครงาน (อาทิ ค่าธรรมเนียมการสมัคร)
  • หากกฎหมายในประเทศกำหนดให้นายจ้างเป็นผู้เก็บเอกสารระบุตัวตน สัญญาจ้างงาน หรือใบอนุญาตพำนักอาศัย (Residence Permit) ของพนักงาน จะต้องให้สำเนาชุดหนึ่งไว้กับพนักงาน พร้อมทั้งดูแลให้มั่นใจว่าพนักงานสามารถขอเอกสารเหล่านี้คืนได้ทุกเมื่อ
  • เฝ้าระวัง “สัญญาณ” ต่างๆ ที่อาจสะท้อนถึงการบังคับใช้แรงงานโดยนายจ้าง อาทิ การทำงานล่วงเวลามากเกินไป, การถูกแยกให้อยู่โดดเดี่ยว, ภาวะกดดันทางการเงิน ฯลฯ
  • ให้พนักงานสามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิต่างๆ และเงื่อนไขการทำงานได้โดยอิสระ

สิ่งที่ไม่ควรทำ

  • เก็บเอกสารระบุตัวตนของพนักงานไว้เป็นหลักประกัน
  • ยอมให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาเสมอโดยไม่ตรวจสอบว่าเป็นการทำงานภายใต้แรงกดดันภายนอกเพื่อชำระหนี้คืนหรือเพื่อชำระค่าจัดหางานหรือไม่
  • ข่มขู่พนักงานด้วยวิธีใดก็ตามเพื่อให้ทำงานกับกลุ่มมิชลินต่อโดยไม่เต็มใจ

ข้อกำหนดสำหรับผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อประจำกลุ่มมิชลินและประจำภูมิภาค

สิ่งที่ควรทำ

  • ระบุหลักการจัดซื้อไว้ในสัญญาทุกฉบับ
  • ตรวจสอบว่าแนวทางปฏิบัติของบริษัทจัดหางานที่ให้บริการคัดสรรพนักงานประจำและพนักงานชั่วคราว ซึ่งกลุ่มมิชลินทำงานด้วย ณ พื้นที่ปฏิบัติงาน โดยเฉพาะในประเทศที่มีความเสี่ยงสูงและในกรณีของแรงงานข้ามชาติ สอดคล้องกับกฎระเบียบต่างๆ และเป็นไปอย่างยุติธรรม (ไม่มีค่าใช้จ่ายสำหรับพนักงานที่ได้รับคัดเลือกเข้าทำงาน, ไม่มีการเก็บบัญชีธนาคารของแรงงานไว้กับบริษัทจัดหางาน ฯลฯ) หรือไม่
  • ระบุประเทศและประเภทการจัดซื้อที่มีความเสี่ยงสูงด้านการบังคับใช้แรงงาน เพื่อประเมินความเสี่ยงในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของซัพพลายเออร์และเพื่อให้ซัพพลายเออร์กลุ่มดังกล่าวได้รับการประเมินผลทางเอกสาร
  • นำเสนอแผนปฏิบัติการที่เหมาะสมสำหรับซัพพลายเออร์หรือภาคการจัดซื้อที่มีความเสี่ยงสูงสุด
  • ดูแลให้ซัพพลายเออร์และพนักงานสามารถเข้าถึง Ethics Line ได้ พร้อมทั้งเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการร้องเรียนไว้บนเว็บไซต์สำหรับจัดซื้อ
  • ระบุพื้นที่ที่ซัพพลายเออร์ยางธรรมชาติมีแนวโน้มจะบังคับใช้แรงงาน และจัดให้มีแผนปฏิบัติการเพื่อขจัดปัญหาดังกล่าว
  • ใส่ใจในสถานการณ์ของพนักงานจากผู้รับจ้างช่วงซึ่งเข้าทำงาน ณ พื้นที่ปฏิบัติงานของกลุ่มมิชลิน

กรณีตัวอย่าง

คุณดูแลรับผิดชอบแผนกบุคคลในประเทศหนึ่ง ลูกจ้างหลายรายซึ่งมาจากประเทศเพื่อนบ้านเข้าพบคุณเพื่อแจ้งว่าบริษัทจัดหางานได้เก็บเอกสารระบุตัวตนของพวกเขาไว้เป็น “หลักประกันทางการเงิน” ในการทำสัญญา คุณควรทำอย่างไร

นี่ถือเป็นเรื่องของการบังคับใช้แรงงาน คุณควรติดต่อบริษัทจัดหางานและพยายามหาทางออกเพื่อให้หนี้ของพนักงานหมดไปโดยประเมินแนวโน้มที่บริษัทจัดหางานจะเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติ หากเปลี่ยนไม่ได้ คุณควรติดต่อผู้ให้บริการรายอื่นที่มีความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนมากกว่านี้ และควรทำให้มั่นใจว่าลูกจ้างกลุ่มนี้ได้รับเอกสารระบุตัวตนคืน ในอนาคต คุณควรระมัดระวังมากขึ้นในการเลือกพันธมิตรธุรกิจ

ผู้ที่ควรติดต่อ:

  • ผู้จัดการฝ่ายบุคคล
  • Ethics Line
  • ทีมงานด้านการสัญจรและการพัฒนาอย่างยั่งยืนประจำส่วนกลาง หรือผู้แทนท้องถิ่น (ระดับประเทศหรือระดับภูมิภาค)
  • ทีมบริหารการปฏิบัติการด้านการจัดซื้อขององค์กร