การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน

“ไม่ว่าจะดำเนินธุรกิจที่ใดในโลก เรายืดหยัดต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบ โดยไม่คำนึงถึงองค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชนหรือภาครัฐ เราปฏิเสธการจ่ายค่าตอบแทนใดๆ ให้กับบุคคลที่สาม หากค่าตอบแทนนั้นไม่สอดคล้องกับบริการจริง ตามจำนวนที่สมเหตุสมผล และระบุไว้อย่างถูกต้องในการบันทึกบัญชีขององค์กร”

กฎบัตรการปฏิบัติงานและความรับผิดชอบของมิชลิน (2545) ว่าด้วยการปฏิบัติตามค่านิยมองค์กรและการดำเนินการด้านความรับผิดชอบ

กลุ่มมิชลินมีเจตนารมณ์ที่จะรักษาและเสริมสร้างชื่อเสียงองค์กรในเรื่องความซื่อสัตย์และคุณธรรม การทุจริตคอร์รัปชันและการใช้อิทธิพลเรียกรับผลประโยชน์ทำลายความเชื่อมั่นที่มีต่อองค์กร หากปราศจากความเชื่อมั่นนี้แล้ว ย่อมไม่มีใครเคารพและปฏิบัติตามค่านิยมหลักของกลุ่มมิชลิน

corruption_opaque@2x

ขอบเขต

ในฐานะองค์กรซึ่งบริษัทแม่ลำดับสูงสุดของกลุ่มองค์กร (Ultimate Parent) มีการซื้อขายหุ้นอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศฝรั่งเศส กิจกรรมการดำเนินงานของกลุ่มมิชลินทั่วโลกอยู่ภายใต้กฎหมายประเทศฝรั่งเศสที่ว่าด้วยการทุจริตคอร์รัปชันและการใช้อิทธิพลเรียกรับผลประโยชน์ โดยเฉพาะการกำหนดให้องค์กรนำมาตรการบางประการมาใช้เพื่อต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน

ในทำนองเดียวกัน ประมวลจริยธรรมฉบับนี้มีผลบังคับใช้กับกิจกรรมการดำเนินงานของมิชลินในประเทศฝรั่งเศส และในทุกประเทศที่มิชลินเข้าไปดำเนินกิจการ ในกรณีที่กฎหมายท้องถิ่นซึ่งมีผลบังคับใช้ในประเทศดังกล่าวมีความเข้มงวดกว่าที่ระบุไว้ในประมวลจริยธรรมฉบับนี้ ให้ยึดตามกฎหมายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันของประเทศนั้นเป็นหลัก

ทั้งนี้ ถือเป็นความรับผิดชอบของพนักงาน ร่วมกับแผนกกฎหมาย ที่จะต้องทำความเข้าใจขอบเขตข้อยกเว้นต่างๆ ให้ชัดเจน

คำจำกัดความ

การทุจริตคอร์รัปชันในภาครัฐ (Public Corruption) หมายถึงการเสนอให้ของขวัญหรือสิทธิประโยชน์ใดๆ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมแก่ผู้กระทำการภาครัฐหรือผู้อื่น เพื่อจูงใจให้กระทำหรือไม่กระทำการอย่างใดอันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของตน  การปฏิบัติที่มิชอบด้วยกฎหมายเช่นนี้เรียกว่า “การทุจริตคอร์รัปชันเชิงรุก” (Active Corruption)

ขณะที่การรับหรือเรียกรับข้อเสนอดังกล่าวโดยผู้กระทำการภาครัฐถือเป็น “การทุจริตคอร์รัปชันเชิงรับ” (Passive Corruption)

 

การทุจริตคอร์รัปชันในภาคเอกชน (Private Corruption) หมายถึงการเสนอให้ของขวัญหรือสิทธิประโยชน์ใดๆ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมแก่ผู้กระทำการภาคเอกชนหรือผู้อื่น เพื่อจูงใจให้กระทำหรือไม่กระทำการอย่างใดอันอยู่ในหน้าที่ของตน  การปฏิบัติที่มิชอบด้วยกฎหมายเช่นนี้เรียกว่า “การทุจริตคอร์รัปชันเชิงรุก” (Active Corruption)

ขณะที่การรับหรือเรียกรับข้อเสนอดังกล่าวโดยผู้กระทำการภาคเอกชนถือเป็น “การทุจริตคอร์รัปชันเชิงรับ” (Passive Corruption)

 

การใช้อิทธิพลเรียกรับผลประโยชน์ในเชิงรุก (Active Influence Peddling) หมายถึงการเสนอให้ของขวัญหรือสิทธิประโยชน์ใดๆ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมแก่ผู้กระทำการภาครัฐหรือผู้กระทำการภาคเอกชน (ซึ่งมีอิทธิพลหรือคาดว่ามีอิทธิพล) เพื่อตอบแทนการใช้อิทธิพลในทางมิชอบอันจะส่งผลให้การตัดสินใจของผู้มีอำนาจหรือผู้บริหารภาครัฐเอื้อประโยชน์ต่อตนเอง (อาทิ การมอบรางวัล การบรรจุตำแหน่งงาน หรือการทำสัญญา)

ขณะที่การรับหรือเรียกรับข้อเสนอดังกล่าวโดยบุคคลในภาครัฐหรือภาคเอกชนถือเป็น “การใช้อิทธิพลเรียกรับผลประโยชน์ในเชิงรับ” (Passive Influence Peddling)

หลักปฏิบัติ

กลุ่มมิชลินไม่ยอมรับหรืออดทนต่อการทุจริตคอร์รัปชันและการใช้อิทธิพลเรียกรับผลประโยชน์ในทุกกรณี ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในภาครัฐหรือภาคเอกชน ในเชิงรุกหรือเชิงรับ และทางตรงหรือทางอ้อม การกระทำการหรือพยายามกระทำการทุจริตคอร์รัปชันหรือใช้อิทธิพลเรียกรับผลประโยชน์อาจส่งผลให้พนักงานถูกลงโทษทางวินัย ทั้งยังอาจส่งผลให้พนักงานและกลุ่มมิชลินถูกปรับและถูกดำเนินคดีทางแพ่งหรือทางอาญา และอาจทำให้กลุ่มมิชลินเสื่อมเสียชื่อเสียงด้านคุณธรรม

มิชลินต่อต้านการให้สินบน (เงินหรือของขวัญของกำนัลที่ให้โดยผิดกฎหมาย) หรือการชำระเงินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมผ่านคนกลาง เพื่อมอบแก่เจ้าหน้าที่, สมาชิกของรัฐบาล หรือข้าราชการ ตลอดจนบุคคล หน่วยงานภาคเอกชน หรืออื่นใด

ทั้งนี้ พนักงานจะไม่ถูกลงโทษสำหรับผลที่ตามมาจากการปฏิเสธที่จะให้สินบนในนามมิชลิน

 

บุคคลที่สามซึ่งกระทำการในนามของมิชลิน

พนักงานควรระมัดระวังเมื่อใช้บุคคลที่สามเป็นตัวแทนหรือกระทำการในนามหน่วยงานของกลุ่มมิชลิน อาทิ ตัวแทน, ตัวกลาง, ที่ปรึกษาภายนอกองค์กร, หรือลูกค้าซึ่งให้บริการลักษณะนี้

ทั้งนี้ ต้องมีการทำสัญญากับบุคคลที่สามซึ่งกระทำการแทนหรือในนามของมิชลิน หรือกับบุคคลที่ทำหน้าติดต่อฝ่ายบริหารหรือหน่วยงานภาครัฐในนามของมิชลิน โดยสัญญาดังกล่าวต้องระบุข้อความต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันเอาไว้ด้วย อีกทั้งสัญญาเหล่านี้ต้องมีการจำกัดระยะเวลาเพื่อให้สามารถประเมินความเสี่ยงต่อการทุจริตคอร์รัปชันบนฐานความสัมพันธ์อีกครั้งได้ และเพื่อให้สามารถใช้สัญญายื่นประมูลราคาได้

การจ่ายค่าตอบแทนสำหรับบริการของบุคคลที่สามดังกล่าวต้อง...

  • เป็นจำนวนที่สมเหตุสมผลกับปริมาณงานที่ได้รับมอบหมาย ระบุข้อมูลชัดเจนสำหรับใช้เป็นหลักฐานได้และสอดคล้องกับ เกณฑ์มาตรฐานของตลาด
  • มีมูลค่าถูกต้องตามจริง ชำระโดยพิจารณาจากการให้บริการที่เกิดขึ้นจริง และเป็นไปตามแนวทางปฏิบัติของมิชลินในเรื่องค่าใช้จ่ายที่ได้รับอนุญาตและกฎระเบียบด้านการบัญชี

พนักงานควรตรวจสอบกับแผนกกฎหมายเรื่องค่าตอบแทนที่ได้รับอนุญาตตามแนวทางปฏิบัติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันของมิชลินและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

สิ่งที่ควรทำ

 

  • ปฏิเสธคำขอหรือข้อเสนอใดๆ เกี่ยวกับสินบนหรือเงินค่าอำนวยความสะดวก พร้อมทั้งรายงานไปยังแผนกกฎหมายและ Ethics Line ในทันที
  • ปฏิบัติตามนโยบายเรื่องคำเชิญและของขวัญที่เกี่ยวข้อง
  • เข้าร่วมในการฝึกอบรมต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันที่กำหนด

สิ่งที่ไม่ควรทำ

ไม่ว่าด้วยตนเองหรือโดยผ่านบุคคลที่สาม

  • ให้หรือรับข้อเสนอหรือคำขอเกี่ยวกับสินบนหรือค่าตอบแทนที่ผิดกฎหมายใดๆ หรือเห็นชอบต่อความต้องการหรือคำขอในเรื่องดังกล่าว
  • ให้ของขวัญของกำนัลหรือสิทธิประโยชน์อันเป็นประโยชน์ส่วนบุคคลแก่ผู้กระทำการภาครัฐหรือผู้กระทำการภาคเอกชน โดยมุ่งหวังว่าจะ...
    • มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจด้านการบริหารหรือการตัดสินใจที่เกี่ยวกับหน้าที่การงา
    • ได้ทำหรือได้ต่อสัญญา ได้เป็นหรือรักษาความเป็นพันธมิตรธุรกิจเอาไว้
    • ได้รับผลประโยชน์สำหรับกลุ่มมิชลิน
  • เสนอหรือเห็นชอบในคำขอเกี่ยวกับข้อเสนอ คำสัญญา ของกำนัล ของขวัญ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดที่มอบให้แก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดเพื่อตอบแทนการใช้อิทธิพลที่บุคคลนั้นมีหรือคาดว่ามีในทางมิชอบกับพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ภาครัฐ

กรณีตัวอย่าง #1

คุณเป็นตัวแทนฝ่ายขาย ลูกค้ารายหนึ่งติดต่อคุณเพื่อต่อรองขอเงินคืนสำหรับสินค้าที่มีการรับประกัน (การขอชดเชยตามสัญญาประกันคุณภาพที่ไม่อาจระงับได้) โดยลูกค้าแจ้งว่าพร้อมจะแบ่งผลประโยชน์จากเงินที่ได้คืนให้กับคุณ “เหมือนกับที่เคยให้ตัวแทนฝ่ายขายคนก่อน” การกระทำเช่นนี้เป็นที่ยอมรับได้หรือไม่

ไม่ ก่อนอื่นคุณต้องปฏิเสธข้อเสนอนั้นอย่างสุภาพ จากนั้นควรติดต่อแผนกกฎหมายหรือรายงานผ่าน Ethics Line เพื่อให้มีการสืบสวนกรณีที่เกิดขึ้นทั้งปัจจุบันและในอดีต

กรณีตัวอย่าง #2

ในการประชุมกับตัวแทนลูกค้าภาครัฐในประเทศหนึ่งซึ่งเป็นที่ทราบดีว่ามีความเสี่ยงสูงต่อการทุจริตคอร์รัปชัน ตัวแทนลูกค้าได้ขอให้คุณจ่ายเงินสดให้กับเขา “เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีการต่อสัญญาจัดซื้อ” คุณตอบไปว่าคุณไม่มีอำนาจที่จะทำได้ ส่งผลให้ตัวแทนลูกค้าโกรธและข่มขู่คุณ ในกรณีนี้คุณจำเป็นต้องทำตามความต้องการของตัวแทนลูกค้าหรือไม่

ไม่ ก่อนอื่นคุณควรพยายามคลี่คลายสถานการณ์เพื่อความปลอดภัยของตัวคุณเอง อย่าทำให้ตนเองตกอยู่ในอันตราย  จากนั้นจึงรายงานเหตุการณ์ให้หัวหน้างานหรือแผนกกฎหมายทราบ รวมทั้งรายงานข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นผ่าน Ethics Line

ทั้งนี้ ในการประชุมกับเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของท้องถิ่น ควรมีตัวแทนจากกลุ่มมิชลินเข้าร่วม 2 คน

กรณีตัวอย่าง #3

คุณเป็นเจ้าหน้าที่จัดซื้อซึ่งดูแลรับผิดชอบเกี่ยวกับคำขอข้อเสนอ (Request for Proposal) ผู้ที่อาจเป็น ซัพพลายเออร์ในอนาคตรายหนึ่งได้เสนอบริการให้กับคุณเป็นการส่วนตัวเพื่อแลกเปลี่ยนกับการได้ทำสัญญาจัดซื้อ คุณสามารถรับข้อเสนอนี้ได้หรือไม่

ไม่ คุณควรปฏิเสธข้อเสนออย่างสุภาพ และรายงานเรื่องนี้กับแผนกกฎหมาย รวมทั้งรายงานข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นผ่าน Ethics Line

กรณีตัวอย่าง #4

คุณเป็นตัวแทนฝ่ายขาย อดีตเจ้าหน้าที่รัฐรายหนึ่งได้ติดต่อคุณและเสนอบริการ “ซึ่งจะช่วยให้มิชลินเป็นผู้ชนะ” ในการประกวดราคาซึ่งทางภาครัฐเพิ่งประกาศออกมาได้ไม่นาน การประกวดราคาครั้งนี้เกี่ยวข้องกับการทำสัญญาครั้งใหญ่ ซึ่งจะเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่สำหรับกลุ่มมิชลิน อีกทั้งยังจะทำให้ทีมงานฝ่ายขายบรรลุเป้าหมายด้านการเติบโตในตลาดนี้ คุณควรทำอย่างไร

คุณต้องปฏิเสธที่จะพบกับอดีตเจ้าหน้าที่รัฐรายนี้ รวมทั้งติดต่อผู้จัดการฝ่ายและแผนกกฎหมายในทันที การที่อดีตเจ้าหน้าที่รัฐอ้างว่าสามารถรับประกันว่ามิชลินจะได้รับเลือกให้เป็นผู้ทำสัญญา ถือเป็น“สัญญาณอันตราย” ซึ่งอาจชี้ให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่รัฐรายนั้นจะใช้อิทธิพลในทางมิชอบกับอดีตเพื่อนร่วมงานของเขา คุณควรร้องเรียนเกี่ยวกับกรณีความเป็นไปได้ที่จะมีการใช้อิทธิพลเรียกรับผลประโยชน์นี้ผ่านทาง Ethics Line

ผู้ที่ควรติดต่อ:

  • แผนกกฎหมาย