การล่วงละเมิด

คำว่า “การล่วงละเมิด” (Harassment) หมายถึงพฤติกรรม การปฏิบัติตัว และการใช้คำที่ไม่เหมาะสมหลายรูปแบบ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายหรือจิตใจของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง

การล่วงละเมิดด้วยสาเหตุใดก็ตามเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ ไม่ว่าจะเกิดจากการเลือกปฏิบัติหรือเหตุอื่นใด

harcelement_original

ตัวอย่างพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม

ตัวอย่างพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมซึ่งอาจถือเป็นการล่วงละเมิด (ส่วนใหญ่เป็นการล่วงละเมิดทางจิตใจ และบางกรณีเป็นการล่วงละเมิดทางร่างกายร่วมด้วย)

  • พูดทำร้ายจิตใจ ทำให้อับอาย ดูถูก ทำให้รู้สึกด้อยค่า หรือวิจารณ์บุคคลใดบุคคลหนึ่งอยู่ตลอดเวลา
  • ข่มขู่ กดดัน ทำให้รู้สึกกลัว หรือตะคอกใส่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง
  • พูดวิจารณ์หรือพูดตลกล้อเลียนที่ส่งผลกระทบต่อผู้อื่น
  • กดดันบุคคลใดบุคคลหนึ่งอย่างไร้เหตุผล หรือกำหนดเป้าหมายที่เป็นไปไม่ได้ให้รับไปปฏิบัติให้สำเร็จ
  • ยุยงส่งเสริมให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งกระทำผิด
  • ทำให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งรู้สึกแปลกแยกและโดดเดี่ยวทางกายหรือทางสังคมจากสมาชิกในทีม
  • กีดกันไม่ให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งได้ประโยชน์หรือตัดสินใจด้วยตนเอง (เช่น การเลือกรอบเวลาทำงาน, วันลาหยุด, การเลื่อนตำแหน่ง, หลักสูตรฝึกอบรม ฯลฯ) หรือมอบหมายเฉพาะงานที่ไม่มีใครต้องการทำหรืองานที่ไม่เกี่ยวข้องกับขอบข่ายหน้าที่รับผิดชอบให้
  • ถอดถอนบุคคลใดบุคคลหนึ่งออกจากหน้าที่รับผิดชอบ หรืองานต่างๆ หรือให้โอนย้ายโดยไม่มีเหตุผลรองรับ
  • มีปฏิกิริยาโต้ตอบทางกายกับผู้อื่นอย่างไม่เหมาะสม อาทิ การตบหลัง, การโอบกอด, การผลัก, การรุกล้ำพื้นที่ส่วนตัว ฯลฯ

วิธีบริหารจัดการองค์กรบนฐานของความรู้สึกกดดันและความกลัว อาทิ ในบริบทของการปฏิรูปองค์กรเชิงโครงสร้าง หรือการดำเนินโครงการใดโครงการหนึ่ง อาจถือเป็น “การล่วงละเมิดทางสถาบัน” (Institutional Harassment) ได้

 

ตัวอย่างพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมซึ่งอาจถือเป็นการล่วงละเมิดทางเพศ

  • การสัมผัสร่างกายผู้อื่นอย่างไม่เหมาะสมและบ่อยเกินควร อาทิ การสัมผัสร่างกายในส่วนที่ควรปกป้อง, การจ้องมองอย่างไม่วางตา ฯลฯ
  • การให้ของขวัญ (อาทิ ชุดชั้นใน หรือน้ำหอม) การเชิญชวน การใช้คำหรือท่าทีที่มีลักษณะส่อไปในทางชู้สาว ซึ่งไม่เหมาะสม ไม่เป็นที่ต้องการ และไม่เป็นที่ยอมรับ (ทางกาย ทางวาจา หรือผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์)
  • การแสดงความคิดเห็นหรือตั้งคำถามที่ไม่พึงประสงค์เกี่ยวกับประเด็นเรื่องร่างกายหรือส่วนของร่างกายที่ส่อไปในทางเพศของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง
  • การเลื่อนตำแหน่งหรือการให้สิทธิประโยชน์ตอบแทนหากยอมรับคำเชิญชวนในเชิงชู้สาวหรือการล่วงเกินทางเพศ (ถือเป็นการล่วงละเมิดในทุกกรณี)

การที่พฤติกรรมหนึ่งๆ จะถือเป็นการล่วงละเมิด (ที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายหรือจิตใจ) หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับความไวต่อความรู้สึกของผู้ถูกกระทำซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล

ความรุนแรงของพฤติกรรมซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับอาจขึ้นอยู่กับสถานการณ์ พฤติกรรมที่ยอมรับไม่ได้บางประการแม้จะเกิดขึ้นครั้งแรกก็รุนแรงพอที่จะถือเป็นการล่วงละเมิด ขณะที่บางพฤติกรรมอาจต้องเกิดขึ้นซ้ำๆ จึงจะเข้าเกณฑ์ พฤติกรรมไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ยิ่งเพิ่มความรุนแรงและเป็นอันตรายมากขึ้น

การล่วงละเมิดอาจเกี่ยวข้องกับใครก็ได้และอาจเกิดได้ในทุกสถานการณ์ของการทำงาน รวมถึงการทำงานนอกสถานที่ โดยในหลายประเทศมีบทลงโทษทางกฎหมาย อีกทั้งประเด็นเรื่องการล่วงละเมิดยังระบุไว้ในอนุสัญญา N°190 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) ซึ่งได้รับความเห็นชอบเมื่อเดือนมิถุนายน 2562 และเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 เป็นต้นไป

ค่านิยมและหลักปฏิบัติ

กลุ่มมิชลินมุ่งมั่นดูแลให้มั่นใจว่าสภาพแวดล้อมในการทำงานมีความมั่นคง ปลอดภัย และเป็นมิตร เปิดโอกาสให้พนักงานทุกคนได้พัฒนาตนเองโดยไม่มีอุปสรรคหรือโดยปราศจากความกลัว บริษัทฯ ตระหนักดีว่าการล่วงละเมิดส่งผลต่อศักดิ์ศรีของบุคคล ทั้งยังอาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพทางร่างกายและทางจิตใจ รวมทั้งอาจทำให้เกิดสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ไม่เป็นมิตร

ด้วยเหตุนี้ กลุ่มมิชลินจึงไม่ยอมรับการล่วงละเมิดทุกรูปแบบต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการล่วงละเมิดทางเพศหรือทางจิตใจ ในสถานที่ทำงานหรือในสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของมิชลิน ซึ่งรวมถึงกรณีที่เกี่ยวข้องหรือเกิดจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอกองค์กร (ผู้สมัครงาน ซัพพลายเออร์ ลูกค้า พันธมิตร ตัวแทนจำหน่าย แขกผู้มาเยือน) ทั้งนี้ การล่วงละเมิดบุคคลใดบุคคลหนึ่งขณะที่มีตำแหน่งหน้าที่สูงกว่าถือเป็นกรณีที่ร้ายแรงกว่าปกติ

เห็นได้ชัดว่ามิชลินมีนโยบายไม่ยอมรับการล่วงละเมิดในทุกกรณี ไม่ว่าผู้กระทำการล่วงละเมิดจะมีตำแหน่งหน้าที่ใดในองค์กรก็ตาม โดยได้เปิดช่องทางร้องเรียนให้พนักงานและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวก เป็นธรรม และเป็นความลับ ทั้งยัง สนับสนุนให้ผู้เสียหายหรือผู้เห็นเหตุการณ์รายงานกรณีล่วงละเมิดที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ มิชลินยังส่งเสริมให้สถานที่ทำงานมีสภาพแวดล้อมซึ่งทำให้พนักงานรู้สึกมั่นใจที่จะแจ้งข้อกังวลต่างๆ ทั้งยังมุ่งมั่นที่จะปกป้องผู้ร้องเรียนกรณีการล่วงละเมิดด้วยความสุจริตใจจากการถูกตอบโต้กลับ

กลุ่มมิชลินมุ่งมั่นที่จะจัดการทุกกรณีอย่างจริงจัง ทันท่วงที และเป็นกลาง โดยเก็บรักษาข้อมูลไว้เป็นความลับ พร้อมทั้งใช้มาตรการเพื่อหลีกเลี่ยงผลประโยชน์ทับซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างกระบวนการสืบสวน ทั้งนี้ กลุ่มมิชลินมีบทลงโทษสำหรับการล่วงละเมิดทุกรูปแบบที่พิสูจน์แล้วว่ามีมูลความจริง และจัดให้มีปฏิบัติการเพื่อเยียวยาสถานการณ์ที่น่าอึดอัดใจแม้กรณีที่เกิดขึ้นจะยังไม่ได้รับการพิจารณาว่าเป็นการล่วงละเมิดก็ตาม

มิชลินนำมาตรการป้องกันและตรวจจับการล่วงละเมิดมาใช้ในทุกภูมิภาค ทั้งยังจัดฝึกอบรมผู้จัดการฝ่ายและบุคลากรด้านทรัพยากรมนุษย์ให้มีบทบาทในการส่งเสริมทัศนคติอันเป็นแบบอย่างที่ดีตามโมเดลผู้นำ ICARE รวมทั้งให้สามารถเป็นผู้ดำเนินการสนทนาแบบเปิดกว้างภายในทีมเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมและไม่พึงประสงค์ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างการทำงาน การฝึกอบรมดังกล่าวมุ่งให้ผู้เข้าอบรมสามารถระบุพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องและจัดการกับข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการล่วงละเมิดอย่างจริงจัง

นอกจากนี้ มิชลินยังระวังไม่ให้โครงการปฏิรูปองค์กรนำไปสู่การล่วงละเมิดทางสถาบันทุกรูปแบบ และเปิดให้พนักงานมีส่วนร่วมในการออกแบบมาตรการป้องกันที่เกี่ยวข้อง

บุคคลที่ได้รับความเสียหายจากการล่วงละเมิดตามที่ระบุไว้ในประมวลจริยธรรมถือเป็นผู้เสียหาย ซึ่งจะได้รับการฟื้นฟูทางอาชีพและการฟื้นฟูส่วนบุคคล

มิชลินเปิดเผยจำนวนข้อร้องเรียนเรื่องการล่วงละเมิด ตลอดจนวิธีการจัดการและบทลงโทษ เป็นประจำทุกปีอย่างโปร่งใส โดยเก็บรักษาข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการดำเนินการไว้เป็นความลับเพื่อประโยชน์ของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย

พนักงานทุกคน

สิ่งที่ควรทำ:

  • มีทัศนคติในการเคารพผู้อื่น ใช้ภาษาที่แสดงถึงความเคารพผู้อื่นเมื่อพบเจอกัน ณ สถานที่ทำงาน รวมทั้งเมื่อติดต่อผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (อีเมล วิดีโอ ฯลฯ)
  • ใส่ใจต่อสุขภาวะที่ดีของเพื่อนพนักงาน และสังเกตเห็นความอึดอัดใจจากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
  • รายงานสถานการณ์ที่เข้าข่ายการล่วงละเมิด ไม่ว่าจะเป็นผู้เสียหายเองหรือเป็นผู้พบเห็นเหตุการณ์ไปยังผู้จัดการฝ่ายหรือผู้จัดการในสายงานอื่น, แผนกบุคคล, แผนกรักษาความปลอดภัย, แผนกกฎหมาย, เจ้าหน้าที่การแพทย์ขององค์กร หรือผู้แทนด้านจริยธรรมระดับภูมิภาค และ Ethics Line

สิ่งที่ไม่ควรทำ:

  • แสดงความคิดเห็นหรือท่าทีที่แม้จะฟังดูไม่เป็นภัยหรือตลก แต่ส่งผลให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งรู้สึกถูกดูแคลน เจ็บปวดหรือไม่สบายใจ หรือทำให้ความคิดเห็นของบุคคลใดบุคคลหนึ่งไม่เป็นที่ยอมรับหรือดูด้อยค่า
  • พยายามทำให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งสนใจในเชิงรักใคร่หรือชู้สาวแม้ว่าบุคคลผู้นั้นจะแสดงว่าไม่สนใจหรือมีท่าทีปฏิเสธ

ผู้จัดการฝ่าย

สิ่งที่ควรทำ:

  • สร้างและรักษาบรรยากาศของการเคารพต่อผู้คน โดยส่งเสริมให้มีการพูดคุยและแสดงความคิดเห็นได้ในทุกประเด็น
  • ใส่ใจปฏิกิริยาของสมาชิกในทีมที่มีต่อรูปแบบการบริหารจัดการ และนำความคิดเห็นของสมาชิกในทีมมาพิจารณา
  • แจ้งให้พนักงานทราบถึงทางเลือกในการรายงานข้อกังวลผ่านช่องทางต่างๆ กรณีที่เกิดการล่วงละเมิดขึ้น พร้อมทั้งช่วยนำพนักงานเข้าสู่กระบวนการดังกล่าว
  • สนับสนุนให้พนักงานรายงานกรณีล่วงละเมิดเมื่อเป็นผู้เสียหายหรือผู้เห็นเหตุการณ์
  • จัดการข้อร้องเรียนเกี่ยวกับกรณีที่เข้าข่ายการล่วงละเมิดอย่างจริงจัง ไม่ว่าผู้เกี่ยวข้องจะอยู่ในตำแหน่งหน้าที่ระดับใดก็ตาม

สิ่งที่ไม่ควรทำ:

  • เพิกเฉยหรือไม่ให้ความสำคัญกับข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางสถาบัน ทางเพศ หรือทางศีลธรรม
  • กำหนดให้พนักงานทำทุกวิถีทางเพื่อบรรลุเป้าหมายทั้งๆ ที่สถานการณ์ดูเป็นไปไม่ได้
  • ดำเนินการสืบสวนข้อร้องเรียนทั้งๆ ที่ไม่เคยผ่านการฝึกอบรมด้านการสืบสวนมาก่อน หรือทั้งๆ ที่มีความใกล้ชิดกับผู้กระทำ การล่วงละเมิด ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นมองว่าขาดความเป็นกลาง

เลขาธิการ (หัวหน้าฝ่ายธุรการ) / กรรมการผู้จัดการ ของหน่วยงานต่างๆ

สิ่งที่ควรทำ:

  • แจ้งผู้จัดการฝ่ายให้ทราบถึงลักษณะพฤติกรรมและการแสดงความคิดเห็นที่นำไปสู่การล่วงละเมิดเพื่อจะได้ตระหนักและหลีกเลี่ยง รวมทั้งขั้นตอนที่ต้องดำเนินการหากมีผู้พบเห็นหรือร้องเรียนเรื่องการล่วงละเมิด
  • นำประเด็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนมาพิจารณา เมื่อประเมินหรือสืบสวนกรณีต่างๆ และดูแลให้มั่นใจว่าการสืบสวนไม่ได้ดำเนินการโดยบุคคลที่อาจถูกมองว่าไม่เป็นกลาง
  • จัดการข้อร้องเรียนเรื่องการล่วงละเมิดอย่างเป็นความลับและด้วยความเคารพบนข้อสันนิษฐานที่ว่าทุกคนเป็นผู้บริสุทธิ์
  • ลงโทษการล่วงละเมิดที่พิสูจน์แล้วว่ามีมูลความจริง ตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง

กรณีตัวอย่าง #1

 

คุณสังเกตเห็นว่าเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งในทีมของคุณมักจะถูกเมินเฉยจากเพื่อนร่วมงานอีกคน ด้วยการไม่ทักทาย ไม่ชักชวนเข้าร่วมประชุมทีมงาน และมักใช้คำพูดดูหมิ่นเกี่ยวกับรูปลักษณ์ทางกายของเขา

  • คุณควรพยายามพูดคุยกับพวกเขาและเพื่อนร่วมงานในทีมเกี่ยวกับการปฏิบัติตนดังกล่าวซึ่งคุณคิดว่าไม่เหมาะสม
  • คุณควรสนับสนุนให้เพื่อนร่วมงานคนนั้นบอกเล่าสถานการณ์ให้ผู้จัดการฝ่ายหรือผู้ให้คำปรึกษาทางวิชาชีพ (Development Partner: PDP) ฟัง และรายงานเรื่องที่เกิดขึ้นผ่าน Ethics Line
  • คุณอาจแจ้งให้ผู้จัดการฝ่ายของคุณทราบถึงสิ่งที่คุณสังเกตเห็นนี้

กรณีตัวอย่าง #2

 

ผู้จัดการฝ่ายของคุณเป็นคนเอาใจยาก เขาตำหนิทีมงานต่อหน้าธารกำนัลเมื่องานบางอย่างไม่เป็นไปตามที่เขาคาดหวังและสามารถฉีกหน้าบุคคลใดบุคคลหนึ่งกลางที่ประชุมได้ ทำให้บรรยากาศมีความกดดัน และทำลายแรงจูงใจของทีมงาน ไม่มีใครกล้าพูดเรื่องนี้กับผู้จัดการฝ่ายเพราะเขามีตำแหน่งสูงและทุกคนกลัวผลที่จะตามมา

  • คุณสามารถขอคุยกับผู้จัดการฝ่ายตามลำพังได้หรือขอคุยพร้อมกับเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ เพื่อบอกให้ผู้จัดการฝ่ายทราบว่าพฤติกรรมของเขาทำให้ทีมงานขาดแรงจูงใจ รู้สึกเครียด และส่งผลเสียต่อทีมงาน
  • หากผู้จัดการฝ่ายไม่ตอบสนองใดๆ คุณสามารถรายงานผ่าน Ethics Line นอกจากนี้ ยังสามารถแจ้งเรื่องกับผู้ให้คำปรึกษาทางวิชาชีพได้
  • การมีตำแหน่งสูงในองค์กรไม่ได้ทำให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งได้รับการปกป้องเป็นพิเศษ  อีกทั้งนโยบายขององค์กรยังปกป้องคุณจากการถูกตอบโต้กลับ

กรณีตัวอย่าง #3

 

ระหว่างจัดกิจกรรมเสริมสร้างความสัมพันธ์ในทีม ผู้บรรยายรับเชิญจากภายนอกองค์กรแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมกับคุณ โดยชมคุณเสียงดัง ติดตามคุณในทุกกิจกรรม และชวนให้ไปหาอะไรดื่มด้วยกัน พฤติกรรมเช่นนี้ทำให้คุณรู้สึกไม่สบายใจและรบกวนการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของคุณ สิ่งที่คุณสามารถทำได้ คือ

  • บอกตรงๆ กับผู้บรรยายรายนั้นและขอร้องให้เขาหยุดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมนี้ โดยคุณอาจบอกกล่าวตามลำพังหรือชวนเพื่อนร่วมงานไปด้วยสักคน
  • รายงานผ่าน Ethics Line  ทั้งยังสามารถแจ้งให้ผู้จัดการฝ่ายหรือผู้ให้คำปรึกษาทางวิชาชีพทราบด้วย
  • สิ่งที่สำคัญก็คือต้องหยุดพฤติกรรมที่ยอมรับไม่ได้นั้นให้ได้ก่อนที่สถานการณ์จะแย่ลง และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกรณีเดียวกันนี้กับผู้อื่นอีก

กรณีตัวอย่าง #4

 

คุณทำงานในทีมขายและลูกค้ารายหนึ่งบอกอย่างชัดเจนว่าเขาต้องการนัดพบคุณนอกสถานที่ทำงาน โดยชวนคุณไปดื่มหรือทานมื้อค่ำด้วยกันหลายครั้ง หลังจากที่คุณปฏิเสธคำเชิญของเขาลูกค้ากล่าวว่าเขาจะหยุดสั่งซื้อยางมิชลินหรืออาจสั่งซื้อในปริมาณน้อยลงมากหากคุณไม่ตอบรับคำเชิญของเขา

คุณต้องแจ้งให้ผู้จัดการฝ่ายทราบ พร้อมทั้งรายงานเรื่องดังกล่าวผ่าน Ethics Line

นอกจากนี้ ยังสามารถรายงานเรื่องที่เกิดขึ้นให้ผู้ให้คำปรึกษาทางวิชาชีพรับทราบด้วย

กรณีตัวอย่าง #5

 

เพื่อนร่วมงานของคุณคนหนึ่งชอบตบหลังคนอื่น ดูเหมือนเขาจะเข้าใจว่าพฤติกรรมเช่นนี้แสดงถึงความเป็นมิตร แต่คุณสังเกตเห็นว่าบางคนรู้สึกไม่ชอบใจกับพฤติกรรมดังกล่าว แต่ไม่กล้าพูดออกมาตรงๆ

คุณควรอธิบายให้เพื่อนร่วมงานของคุณฟังว่าพฤติกรรมนี้ไม่เป็นที่ยอมรับของผู้อื่น และอาจทำให้ผู้อื่นไม่พอใจ พร้อมทั้งขอร้องให้เขาหยุดทำพฤติกรรมดังกล่าว

ผู้ที่ควรติดต่อ:

  • ผู้จัดการฝ่าย
  • ผู้ให้คำปรึกษาทางวิชาชีพ หรือเจ้าหน้าที่แผนกบุคคล
  • Ethics Line
  • ผู้จัดการฝ่ายความหลากหลายและการมีส่วนร่วม (มีเฉพาะในบางประเทศ)
  • เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ (มีเฉพาะในประเทศฝรั่งเศส)
  • แผนกกฎหมาย