การใช้แรงงานเด็ก

ที่มิชลิน เราต่อต้านการใช้แรงงานเด็กทุกรูปแบบที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ การศึกษา หรือศีลธรรมของเด็ก และที่ไม่สอดคล้องกับอนุสัญญา ILO

เราต้องการปกป้องเด็ก รวมทั้งสนับสนุนพัฒนาการด้านร่างกายและจิตใจของเด็ก โดยห้ามไม่ให้ใช้แรงงานเด็กในกิจกรรมการดำเนินงานขององค์กร รวมถึงในกิจกรรมการดำเนินงานของซัพพลายเออร์ หรือในงานอื่นใดที่อาจละเมิดหลักปฏิบัติเหล่านี้

travail_des_enfants@2x

คำจำกัดความ

แนวคิดเรื่อง “การใช้แรงงานเด็ก” ครอบคลุมกิจกรรมการดำเนินงานทุกรูปแบบซึ่งลิดรอนเด็กจากวัยเด็ก รวมทั้งส่งผลเสียต่อการศึกษา สุขภาพ ตลอดจนพัฒนาการทางร่างกายและจิตใจของเด็ก โดยหมายถึงการทำงานที่...

  • เป็นอันตรายต่อสุขภาพ หรือต่อพัฒนาการทางร่างกาย สังคม หรือจิตใจของเด็ก
  • ส่งผลกระทบต่อการศึกษาของเด็กหรือกีดกันเด็กจากการไปโรงเรียน
  • บังคับให้เด็กต้องเรียนและทำงานควบคู่กันไปเป็นเวลานานเกินควร ซึ่งทำให้เด็กเหนื่อยล้า

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) ได้กำหนดอายุขั้นต่ำในการทำงานไว้ที่ 15 ปี และในการทำงานอันตรายทุกรูปแบบไว้ที่ 18 ปี

ไม่ว่ากรณีใดก็ตาม แม้จะเป็นการทำงานที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวก็ต้องไม่กีดกันเด็กจากการเข้าเรียนหรือส่งผลเสียต่อสุขภาพและพัฒนาการของเด็ก  ภายใต้เงื่อนไขนี้  ILO ระบุให้เด็กอายุ 13 ปีขึ้นไปสามารถทำงานเบาบางประเภทได้  ทั้งนี้ เด็กไม่ควรหยุดเรียนก่อนถึงอายุตามเกณฑ์การศึกษาภาคบังคับของแต่ละประเทศ

หลักปฏิบัติ

ข้อกำหนดสำหรับผู้ที่ทำงานในพื้นที่ปฏิบัติงานของมิชลิน

  • ไม่ให้บุคคลอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานในพื้นที่ปฏิบัติงานของกลุ่มมิชลิน
  • มีข้อยกเว้นสำหรับบุคคลอายุระหว่าง 15-18 ปี ในกรณีที่การทำงานเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกงาน, เวลาทำงานไม่กระทบเวลาเรียน หรือส่งผลเสียต่อพัฒนาการและสุขภาพของบุคคลนั้น (ไม่ใช่งานหนัก)

 

หลักปฏิบัติของมิชลินสำหรับซัพพลายเออร์

  • หลักการจัดซื้อ ซึ่งระบุไว้ในภาคผนวกของสัญญาต่างๆ  กำหนดให้ซัพพลายเออร์เคารพกฎระเบียบต่อไปนี้: การห้ามจ้างบุคคลอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานที่เป็นอันตราย และการห้ามจ้างบุคคลอายุต่ำกว่า 15 ปี เป็นลูกจ้าง  ทั้งนี้ ข้อยกเว้นขึ้นอยู่กับลักษณะกิจกรรมการดำเนินงาน โดยมีเงื่อนไขว่าการปฏิบัติงานดังกล่าวต้องสอดคล้องตามอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 138 และ 182 และกฎหมายภายในประเทศ รวมทั้งงานดังกล่าวจะต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าเรียนและไม่ส่งผลเสียต่อพัฒนาการและสุขภาพของบุคคลดังกล่าว
  • กลุ่มมิชลินมีแนวทางเฉพาะที่ใช้ระบุความเสี่ยงเรื่องการใช้แรงงานเด็กในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ที่เกี่ยวข้องกับยางธรรมชาติ  ทั้งยังกำหนดปฏิบัติการและเฝ้าระวังพื้นที่ที่มีความสุ่มเสี่ยงสูงสุด
  • นอกจากนี้ กลุ่มมิชลินยังประเมินความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน ซึ่งรวมถึงการใช้แรงงานเด็ก ในกลุ่มซัพพลายเออร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศและประเภทการจัดซื้อซึ่งมีความเสี่ยงสูงสุด ซัพพลายเออร์ที่มีแนวทางปฏิบัติด้านความรับผิดชอบต่อสังคมไม่สอดคล้องตามมาตรฐานของมิชลินจะต้องจัดทำแผนปฏิบัติการแก้ไขข้อบกพร่อง (Corrective Action Plans)

สิ่งที่ควรทำ

  • เปรียบเทียบกฎหมายภายในประเทศกับหลักปฏิบัติและข้อกำหนดขององค์กรในเรื่องอายุขั้นต่ำที่อนุญาตให้ทำงานได้ โดยเลือกใช้เกณฑ์อายุขั้นต่ำที่สูงที่สุด
  • ตรวจสอบบัตรประจำตัวพนักงานเพื่อให้มั่นใจว่าพนักงานมีอายุอย่างน้อย 18 ปี ในกรณีที่ปฏิบัติหน้าที่ในส่วนงานหนัก
  • เฝ้าระวังกลุ่มประเทศที่พบการใช้แรงงานเด็กบ่อยครั้งเป็นพิเศษ รวมทั้งเฝ้าระวังซัพพลายเออร์ด้วย

สิ่งที่ไม่ควรทำ

  • ปล่อยให้เกิดการใช้แรงงานเด็ก แม้จะพิจารณาแล้วว่าเป็นแนวปฏิบัติปกติในประเทศนั้นก็ตาม
  • ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นเรื่องการใช้แรงงานเด็ก เมื่อซัพพลายเออร์หรือพันธมิตรเป็นผู้กระทำ (ไม่ใช่ที่มิชลิน)

กรณีตัวอย่าง #1

คุณได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้างานสำหรับการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการในโรงงานแห่งหนึ่งพนักงานบางรายดูอายุน้อยมาก หลังจากตรวจสอบเอกสารระบุตัวตนแล้ว พบว่าหนึ่งในนั้นมีอายุเพียง 16 ปี และได้รับมอบหมายให้อยู่ในตำแหน่งที่ต้องทำงานหนัก คุณควรทำอย่างไร

ประเทศที่คุณทำงานอยู่อนุญาตให้ทำงานได้ตั้งแต่อายุ 16 ปี แต่กฎระเบียบขององค์กรระบุว่าผู้ที่ปฏิบัติงานในส่วนงานหนักต้องมีอายุอย่างน้อย 18 ปี ดังนั้น คุณจึงศึกษาความเป็นไปได้ที่จะให้พนักงานอายุน้อยรายนี้ทำงานในตำแหน่งอื่น โดยดูแลให้มั่นใจว่างานที่ทำจะไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพและการศึกษาของพนักงานรายนั้น

กรณีตัวอย่าง #2

คุณเป็นผู้อำนวยการระดับภูมิภาคในประเทศกำลังพัฒนาประเทศหนึ่ง องค์กรพัฒนาเอกชน(NGO) รายหนึ่งได้ติดต่อมิชลินเพื่อรายงานว่ามีเด็กๆ ทำงานอยู่ในสวนยางพาราซึ่งเป็นผู้จัดส่งวัตถุดิบทางอ้อมให้กับกลุ่มมิชลิน หลังจากตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว ปรากฎว่าวัยรุ่นเหล่านี้ช่วยพ่อแม่ทำงานในสวนยางพาราเป็นบางครั้ง คุณควรรายงานกรณีนี้หรือไม่

ควร คุณควรรายงานกรณีดังกล่าวไปยังแผนกจัดซื้อ ซึ่งจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าควรดำเนินการอย่างไร

ผู้ที่ควรติดต่อ:

  • ผู้แทนด้านการสัญจรและการพัฒนาอย่างยั่งยืนประจำส่วนกลางหรือส่วนท้องถิ่น
  • แผนกบุคคล
  • แผนกจัดซื้อประจำส่วนกลางหรือส่วนท้องถิ่น