การเลือกปฏิบัติ

ความหลากหลายและการมีส่วนร่วมของพนักงานในองค์กรเป็นสินทรัพย์อันทรงคุณค่าสำหรับกลุ่มมิชลิน มิชลินเชื่อว่าสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ทุกคนเคารพต่อความเป็นตัวเองของกันและกันจะช่วยตอกย้ำพันธกิจและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับผลการดำเนินงานโดยรวม ทั้งนี้ กลุ่มมิชลินต่อต้านการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบตามข้อกำหนดสูงสุดที่ระบุไว้

มิชลินมุ่งหวังให้พนักงานเคารพในการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนพนักงานและกับทุกคนที่มีความสัมพันธ์ทางหน้าที่การงานด้วย (ซัพพลายเออร์, ลูกค้า, ชุมชนข้างเคียง, ผู้สมัครงาน ฯลฯ)

removeImage

คำจำกัดความและบริบท

การเลือกปฏิบัติ หมายถึง การปฏิบัติต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลหนึ่งแตกต่างออกไปด้วยการทำให้เสียประโยชน์หรือได้ประโยชน์บนพื้นฐานของปัจจัยต่างๆ อาทิ เพศ, อายุ, ศาสนา, วัฒนธรรม, ภูมิหลังทางสังคม, เชื้อชาติ, ชาติพันธุ์, ความพิการ, รสนิยมทางเพศ, การเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน, สถานะครอบครัว, ความคิดเห็นทางการเมือง, ลักษณะทางกายภาพ ฯลฯ ทั้งนี้ การเลือกปฏิบัติตรงข้ามกับความเท่าเทียม องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า “การได้รับการปกป้องจากการเลือกปฏิบัติเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน” โดยประเด็นนี้เป็นหัวข้อที่ระบุไว้ในอนุสัญญาหลายฉบับ รวมถึงอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 111

 

การเลือกปฏิบัติในองค์กร
อาจเกิดขึ้นได้ในการสรรหาบุคลากร การพิจารณาเลื่อนตำแหน่ง การจ่ายเงิน การฝึกอบรม และการเข้าถึงบริการหรือสิทธิประโยชน์ต่างๆ

โดยสะท้อนผ่านพฤติกรรม คำพูด หรือการกระทำ ที่มาจากทัศนคติเชิงอคติแบบเหมารวม (Stereotype) ซึ่งเป็นการดูแคลนหรือทำให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลหนึ่งขาดความชอบธรรมหรือเสียสิทธิ การเลือกปฏิบัติเช่นนี้มีบทลงโทษทางแพ่งและทางอาญาในหลายประเทศ

ค่านิยมและหลักปฏิบัติ

กลุ่มมิชลินมุ่งมอบโอกาสที่เท่าเทียมให้กับทุกคนภายในกลุ่มมิชลิน ไม่ว่าจะมีสถานภาพของพนักงานแบบใด ทั้งในการสรรหาบุคลากร การจ่ายเงิน ความก้าวหน้าในสายอาชีพ การเข้าถึงการฝึกอบรม และเงื่อนไขการจ้างงานอื่นๆ

พันธมิตร ผู้จัดการฝ่าย และพนักงานทุกคนจะต้องได้รับการปฏิบัติด้วยความเคารพอย่างมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน โดยไม่คำนึงถึงเพศ, อายุ, ศาสนา, วัฒนธรรม, ภูมิหลังทางสังคม, เชื้อชาติ, ชาติพันธุ์, ความพิการ, รสนิยมทางเพศ, การเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน, สถานะครอบครัว, ความคิดเห็นทางการเมือง, ลักษณะทางกายภาพ ฯลฯ

นอกจากความคาดหวังที่มีต่อพนักงานมิชลินแล้ว กลุ่มมิชลินยังขอให้ลูกค้าและซัพพลายเออร์ต่อต้านการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบกับพนักงานของพวกเขาด้วย

สิ่งที่ควรทำ:

(สำหรับผู้จัดการฝ่ายบุคคลขององค์กร ผู้จัดการฝ่ายในสายงานอื่น รวมทั้งผู้จัดการฝ่ายความหลากหลายและการมีส่วนร่วม)

  • ตรวจสอบให้มั่นใจว่าการโฆษณารับสมัครงานมุ่งสื่อสารไปยังผู้สมัครงานทุกกลุ่มประเภท โดยไม่ระบุเพศ อายุ วัฒนธรรม รสนิยมทางเพศ ศาสนา ขนาดรูปร่าง ฯลฯ
  • แจ้งให้พนักงานทราบถึงทางเลือกที่สามารถทำได้เมื่อเผชิญกับการเลือกปฏิบัติ และร่วมดำเนินการไปพร้อมกับพนักงาน
  • จัดการกับข้อร้องเรียนที่เข้าข่ายการเลือกปฏิบัติอย่างจริงจังและเคารพสิทธิ์ในการอุทธรณ์คำตัดสินของพนักงาน
  • ลงโทษการเลือกปฏิบัติที่พิสูจน์แล้วว่าเป็นความจริงตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง
  • เสริมสร้างการรับรู้ในกลุ่มผู้จัดการฝ่ายและเจ้าหน้าที่สรรหาบุคลากรเกี่ยวกับทัศนคติเชิงอคติแบบเหมารวม (Stereotype) ในกระบวนการคัดสรรของฝ่ายบุคคล
  • เสริมสร้างการรับรู้ในกลุ่มผู้จัดการฝ่ายเกี่ยวกับพฤติกรรมและความคิดเห็นที่อาจนำไปสู่การเลือกปฏิบัติ เพื่อให้ใส่ใจเป็นพิเศษกับผู้เปราะบางและรับทราบว่าควรทำอย่างไรเมื่อได้รับการรายงานหรือข้อร้องเรียน

สิ่งที่ไม่ควรทำ:

                                                                                                                                                                          

  • เพิกเฉยต่อข้อร้องเรียนเรื่องการเลือกปฏิบัติ (ผู้จัดการฝ่าย)
  • การนำชื่อ ที่อยู่ อายุ เพศ สถานะครอบครัว รูปภาพ หรือคุณลักษณะส่วนบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องกับทักษะของผู้สมัครงาน มาเป็นเงื่อนไขในการตัดสินใจคัดสรรบุคลากร (เจ้าหน้าที่สรรหาบุคลากร) หรือเพื่อตัดสินใจเกี่ยวกับหน้าที่การงานของพนักงาน (ผู้จัดการฝ่าย)
  • ตั้งคำถามกับผู้สมัครงานเกี่ยวกับวัฒนธรรม ศาสนา สถานภาพการสมรส ความตั้งใจที่จะมีบุตร รสนิยมทางเพศ ฯลฯ ระหว่างการสัมภาษณ์งาน (เจ้าหน้าที่สรรหาบุคลากร)
  • ระบุเงื่อนไขเกี่ยวกับอายุ ศาสนา ขนาดรูปร่าง เพศ หรือวัฒนธรรม ในสัญญาจ้างพนักงานหรือผู้ให้บริการเพื่อทำงานโดยตรงหรือโดยอ้อมให้กับมิชลิน
  • แสดงความคิดเห็นที่ฟังดูไม่เป็นภัยหรือตลก แต่เป็นการดูแคลนหรือทำลายความชอบธรรมของบุคคลใดบุคคลหนึ่งอันเนื่องมาจากแหล่งที่มา เพศ ภูมิหลังทางสังคม ศาสนา ความพิการ ฯลฯ ของบุคคลนั้น

กรณีตัวอย่าง #1

คุณเป็นผู้จัดการฝ่ายความหลากหลายและการมีส่วนร่วม

ผู้ร่วมงานรายหนึ่งขอเข้าพบเพื่อปรึกษาคุณ เธอไม่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งมานานถึง 5 ปี แต่เพื่อนร่วมงานของเธอซึ่งทำงานอีกแผนกกลับได้รับพิจารณาเลื่อนตำแหน่งหลังจากทำงานได้ 2 ปี เธอรู้สึกว่าเธอได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างเพราะเธอเป็นผู้หญิง คุณควรตอบสนองอย่างไร

 

คุณควรอธิบายให้เธอฟังว่า กลุ่มมิชลินมุ่งดูแลให้พนักงานทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน การเลื่อนตำแหน่งพิจารณาจากหลักเกณฑ์ที่เป็นข้อเท็จจริงโดยไม่มีความรู้สึกเข้ามาเกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม คุณจะพูดคุยเรื่องนี้กับผู้ให้คำปรึกษาทางวิชาชีพ (Development Partner: PDP) เพื่อให้ตรวจสอบเรื่องนี้ในเชิงลึก และ...หากพบว่ามีมูล...จะดำเนินการที่จำเป็นในเรื่องการบริหารความก้าวหน้าในอาชีพต่อไป

กรณีตัวอย่าง #2

ผู้จัดการฝ่ายของคุณมักพูดตลกหรือแสดงความเห็นเชิงวิจารณ์ศาสนาของเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งอยู่เสมอ ทั้งยังไม่เคยเลือกเพื่อนร่วมงานของคุณคนนี้ทำโครงการที่เปิดโอกาสสู่ความก้าวหน้า แม้ว่างานของเขาจะดีจนไม่มีที่ติเลยก็ตาม ทั้งยังปฏิเสธคำขอลาหยุดหรือขอเข้าฝึกอบรมของเขาโดยไม่ให้เหตุผลแต่อย่างใด แม้พนักงานคนนี้จะนิ่งเฉยและไม่โต้ตอบ แต่เขาดูจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้ไม่มากก็น้อย คุณควรทำอย่างไร

คุณควรสนับสนุนให้เพื่อนร่วมงานคนดังกล่าวเปิดเผยให้ผู้จัดการฝ่ายรับทราบว่า ทัศนคติของผู้จัดการฝ่ายทำให้เขารู้สึกแย่ อีกทั้งยังเป็นการเลือกปฏิบัติ  นอกจากนี้ คุณควรเสนอตัวไปเป็นเพื่อนเมื่อเขาพูดกับผู้จัดการฝ่าย หากเพื่อนร่วมงานของคุณไม่ต้องการใช้วิธีนี้ หรือหากวิธีนี้ไม่ได้ส่งผลให้พฤติกรรมของผู้จัดการฝ่ายดีขึ้น คุณควรสนับสนุนให้เขาร้องเรียนผ่าน Ethics Line และติดต่อผู้ให้คำปรึกษาทางวิชาชีพ (Development Partner: PDP)

ผู้ที่ควรติดต่อ:

  • ผู้จัดการฝ่ายความหลากหลายและการมีส่วนร่วม
  • ผู้ให้คำปรึกษาทางวิชาชีพ
  • ผู้จัดการฝ่าย
  • Ethics Line