การหลีกเลี่ยงผลประโยชน์ทับซ้อน
“เราต้องการป้องกันไม่ให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างหน้าที่รับผิดชอบของพนักงานเมื่ออยู่ภายในและภายนอกองค์กร ดังนั้น เราจึงคาดหวังให้พนักงานหลีกเลี่ยงกิจกรรมทางการเงิน การค้า หรือกิจกรรมอื่นใดที่อาจขัดต่อผลประโยชน์โดยชอบด้วยกฎหมายของกลุ่มมิชลิน หรืออาจนำไปสู่ความไม่ชัดเจนเรื่องหน้าที่รับผิดชอบภายในองค์กร”
กฎบัตรการปฏิบัติงานและความรับผิดชอบของมิชลิน (2545) ว่าด้วยการปฏิบัติตามค่านิยมองค์กรและการดำเนินการด้านความรับผิดชอบ
คำจำกัดความ
ผลประโยชน์ทับซ้อนเกิดขึ้นเมื่อผลประโยชน์ส่วนบุคคลของพนักงานขัดแย้งกับผลประโยชน์ของนายจ้าง
ผลประโยชน์ส่วนบุคคล อาจเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการกุศล วัฒนธรรม การเงิน การเมือง ศาสนา การกีฬา รวมทั้งอาจเกิดขึ้นผ่านสมาคมต่างๆ หรือเป็นผลจากความผูกพันฉันท์มิตร ความผูกพันทางอารมณ์ หรือความผูกพันในครอบครัว
แม้จะไม่มีคำจำกัดความทางกฎหมายสำหรับคำว่า “ผลประโยชน์ทับซ้อน” ในทุกประเทศ แต่พฤติกรรมที่เข้าข่ายดังกล่าวมักมีบทลงโทษทางอาญา
ผลประโยชน์ทับซ้อนแบ่งเป็นที่เกิดขึ้นจริง อาจเกิดขึ้นได้ หรือที่เห็นได้ชัดเจน
- ผลประโยชน์ทับซ้อนที่เกิดขึ้นจริง (Actual Conflict of Interest) คือสถานการณ์ที่ผลประโยชน์ส่วนบุคคลของพนักงานขัดแย้งกับผลประโยชน์ของมิชลินและมีอิทธิพลต่อการปฏิบัติหน้าที่การงานของพนักงาน
- ผลประโยชน์ทับซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ (Potential Conflict of Interest) คือสถานการณ์ที่ผลประโยชน์ส่วนบุคคลของพนักงานอาจขัดแย้งกับผลประโยชน์ของมิชลิน พนักงานต้องเฝ้าระวังไม่ให้การขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นได้นั้นกลายเป็นการขัดแย้งที่เกิดขึ้นจริง
- ผลประโยชน์ทับซ้อนที่เห็นได้ชัด (Apparent Conflict of Interest) คือสถานการณ์ที่ผลประโยชน์ส่วนบุคคลของพนักงานอาจถูกมองว่าเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน
หลักปฏิบัติ
พนักงานต้องแจ้งสถานการณ์ที่เข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อน (ทั้งที่เกิดขึ้นจริง เห็นได้ชัดเจน หรืออาจเกิดขึ้นได้) ให้ผู้จัดการฝ่ายและ/หรือแผนกบุคคลทราบ เพื่อให้กรณีดังกล่าวได้รับการจัดการตามนโยบายของกลุ่มมิชลิน
พนักงานแต่ละรายต้องระวังเป็นพิเศษในเรื่องความสัมพันธ์ส่วนบุคคล (เพื่อน ครอบครัว ฯลฯ) กับผู้ซึ่งทำงานให้กับคู่แข่ง ซัพพลายเออร์ หรือลูกค้าของกลุ่มมิชลิน ความสัมพันธ์ดังกล่าวไม่ผิดกฎหมาย แต่ต้องไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของมิชลิน
สถานการณ์ใดๆ ซึ่งก่อให้เกิดข้อสงสัยอันควรแก่เหตุถึงความเป็นกลาง ความภักดีต่อกลุ่มมิชลิน และจริยธรรมของพนักงาน แม้จะเป็นข้อสงสัยที่ไม่ถูกต้อง อาจส่งผลให้พนักงานมีความเสี่ยงเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน
สิ่งที่ควรทำ
- ขอคำแนะนำจากผู้จัดการฝ่ายหากสถานการณ์ส่วนตัว (หรือสถานการณ์ของสมาชิกในครอบครัว) มีแนวโน้มจะก่อให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนที่เอื้อหรือขัดต่อผลประโยชน์ของมิชลิน
- หลีกเลี่ยงการให้สิทธิพิเศษกับเพื่อนหรือญาติเมื่อต้องตัดสินใจหรือดำเนินงานตามหน้าที่
- ตรวจสอบให้มั่นใจเสมอว่าการตัดสินใจเป็นไปอย่างยุติธรรมและเป็นกลาง เพื่อผลประโยชน์ที่ดีที่สุดของกลุ่มมิชลิน
สิ่งที่ไม่ควรทำ
- จัดเตรียมหรือซื้อสินค้าที่จับต้องได้หรือจับต้องไม่ได้เพื่อจำหน่ายหรือให้เช่าแก่มิชลิน
- ตัดสินใจบนฐานของผลประโยชน์ทางการเงินทุกรูปแบบที่ตนเองได้รับจากบริษัทด้านการพาณิชย์ที่กำกับดูแลโดยคู่แข่ง ซัพพลายเออร์ หรือลูกค้าของมิชลิน
- วิ่งเต้นให้คู่สมรส บิดาหรือมารดา หรือบุตรของตนเอง ได้รับการว่าจ้างโดยคู่แข่ง ซัพพลายเออร์ หรือลูกค้าของกลุ่มมิชลิน
กรณีตัวอย่าง #1
คุณทราบดีว่าพื้นที่ปฏิบัติงานทางอุตสาหกรรมของคุณจะจัดประกวดราคาเพื่อเลือกบริษัทให้บริการทำความสะอาด ลูกสาวของคุณดำเนินธุรกิจท้องถิ่นซึ่งมีชื่อเสียงและประสบความสำเร็จในสายงานนี้ คุณควรมีท่าทีอย่างไรกับครอบครัวและกับกลุ่มมิชลิน
คุณควรหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงการประกวดราคาดังกล่าวต่อหน้าญาติๆ รวมทั้งต้องแจ้งและหารือกับผู้จัดการฝ่ายถึงสายสัมพันธ์ดังกล่าวซึ่งอาจถูกมองว่าเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน
นอกจากนี้ ไม่ว่าในกรณีใดๆ ก็ตาม คุณไม่ควรเข้าไปมีส่วนร่วมในการคัดเลือกซัพพลายเออร์ที่ยื่นประกวดราคาครั้งนี้หรือในการดำเนินการประกวดราคาดังกล่าว
คุณควรระวังอย่างยิ่งเพราะเพียงเอ่ยถึงกิจการของลูกสาวคุณให้เพื่อนร่วมงานที่มีส่วนร่วมในการประกวดราคาครั้งนี้ฟัง ก็อาจถูกตีความเป็นเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อนได้
กรณีตัวอย่าง #2
ลูกชายของคุณที่กำลังหางาน ได้ยื่นใบสมัครไปยังบริษัทลูกค้ารายหลักรายหนึ่งของคุณ ระหว่างการพูดคุยหารือกับลูกค้ารายนี้ ลูกค้าได้เอ่ยถึงใบสมัครของลูกชายคุณหลายครั้ง คุณควรทำอย่างไร
คุณต้องแจ้งให้ผู้จัดการฝ่ายทราบถึงสถานการณ์นี้และความสัมพันธ์ในครอบครัว ซึ่งอาจถูกตีความเป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนที่มุ่งสานต่อความสัมพันธ์กับลูกค้ารายนี้
จากนั้นคุณและผู้จัดการฝ่ายควรอธิบายสถานการณ์ให้ลูกค้ารายดังกล่าวฟัง เพื่อหลีกเลี่ยงแรงกดดันทางตรงหรือทางอ้อมใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้