การต่อต้านการฉ้อโกง

การฉ้อโกงเป็นภัยต่อกิจกรรมการดำเนินงาน ตลอดจนภาพลักษณ์และชื่อเสียงของมิชลิน

ที่มิชลิน การฉ้อโกงและความไม่ซื่อสัตย์ เช่นเดียวกับการกระทำผิดทางอาญาอื่นๆ ถือเป็นเรื่องต้องห้ามโดยเด็ดขาด อีกทั้งอาจส่งผลให้พนักงานต้องรับผิดทางแพ่งหรือทางอาญาด้วย การฉ้อโกงที่พิสูจน์แล้วว่าเป็นจริงจะได้รับการลงโทษทางวินัยตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ ต้องระวังเรื่องการเผยแพร่ข้อมูลที่มีความอ่อนไหวให้แก่บุคคลภายนอกองค์กรอย่างเต็มที่ เนื่องจากอาจเปิดโอกาสให้บุคคลที่สามภายนอกองค์กรกระทำการฉ้อโกงได้

fraude@2x

คำจำกัดความ

การฉ้อโกง หมายถึงการกระทำที่ไม่ซื่อสัตย์สุจริตโดยเจตนาและจงใจ การหลอกลวงหรือการละเมิดความไว้วางใจ เพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ทางการเงินหรือผลประโยชน์อื่นใดอย่างผิดกฎหมายสำหรับพนักงานกลุ่มมิชลิน บุคคลที่สามหรือบริษัทนอกกลุ่มมิชลิน การฉ้อโกงแบ่งออกเป็นหลายประเภท ได้แก่

  • การยักยอกสินทรัพย์ อาทิ สินค้าและเงิน
  • การทุจริตคอร์รัปชัน ไม่ว่าเชิงรุกหรือเชิงรับ
  • การปลอมแปลงงบการเงิน

 

ทั้งนี้ การฉ้อโกงอาจกระทำโดยพนักงานซึ่งทำงานให้กับกลุ่มมิชลิน หรือโดยบุคคลหรือองค์กรนอกกลุ่มมิชลิน

หลักปฏิบัติ

การส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งความซื่อสัตย์ (Culture of Integrity) ในทุกระดับของกลุ่มมิชลิน [ผ่านการสื่อสารจากฝ่ายบริหารที่ชัดเจนเกี่ยวกับพฤติกรรมที่คาดหวังและพฤติกรรมซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับ] และการนำกระบวนการควบคุมความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพมาใช้ จะช่วยจำกัดความเสี่ยงต่อการฉ้อโกงได้

มิชลินได้นำระบบควบคุมภายในองค์กร (Internal Control System) มาใช้กับทุกบริษัทในเครือกลุ่มมิชลิน

โดยระบบนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของวิธีการ พฤติกรรม กระบวนการ และแผนปฏิบัติการต่างๆ ซึ่งปรับให้เข้ากับลักษณะเฉพาะของแต่ละบริษัท โดยมีเป้าหมายเพื่อ...

  • สนับสนุนการควบคุมกิจกรรมการดำเนินงาน ประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน และการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ
  • นำความเสี่ยงหลักๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการปฏิบัติงาน การเงิน หรือการปฏิบัติตามกฎระเบียบต่างๆ มาพิจารณาร่วมด้วยอย่าง เหมาะสม

ระบบนี้มุ่งเน้นเป็นพิเศษที่จะตรวจสอบให้มั่นใจใน...

  • การปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ
  • การนำข้อปฏิบัติและแนวทางต่างๆ ซึ่งกำหนดโดยทีมบริหารองค์กรหรือผู้บริหารของกลุ่มมิชลินไปใช้
  • การทำหน้าที่อย่างเหมาะสมของกระบวนการภายในองค์กรของกลุ่มมิชลิน โดยเฉพาะกระบวนการซึ่งส่งเสริมการปกป้องสินทรัพย์
  • ความน่าเชื่อถือของข้อมูลทางการเงิน

 

ผู้จัดการฝ่ายมีบทบาทสำคัญต่อระบบควบคุมภายในองค์กร

  • เป็นผู้พัฒนา “วัฒนธรรมแห่งความซื่อสัตย์” ในทีม
  • เป็นผู้เผยแพร่หลักการพื้นฐานของกลุ่มมิชลิน
  • เป็นผู้เฝ้าระวังความเสี่ยงต่อการฉ้อโกงซึ่งอาจเกิดขึ้นในหน่วยงานของตน
  • เป็นผู้ใช้มาตรการลงโทษเมื่อการฉ้อโกงโดยพนักงานได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นจริง

สิ่งที่ควรทำ

เพื่อป้องกันการฉ้อโกง

  • รู้และเคารพกฎระเบียบการควบคุมภายในองค์กรที่หน่วยงานของตนกำหนด โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการแบ่งแยกหน้าที่
  • ระบุปัญหาและดำเนินการแก้ไขเมื่อพบจุดอ่อนของระบบควบคุมภายในองค์กร
  • ใช้เครื่องมือและทรัพยากรที่กลุ่มมิชลินมีให้ (บัตรเครดิตธนาคาร คอมพิวเตอร์ เครื่องมือ) เฉพาะในหน้าที่การงานเท่านั้น ยกเว้นได้รับอนุญาตเป็นพิเศษโดยนโยบายระดับประเทศหรือระดับภูมิภาค
  • รายงานผู้จัดการฝ่ายเมื่อมีความต้องการเร่งด่วนที่จะปรับแก้หรือเผยแพร่ข้อมูลที่มีความอ่อนไหว
  • แจ้งให้ผู้จัดการฝ่ายทราบถึงความยุ่งยากที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ในการปฏิบัติตามขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่ง

กรณีสงสัยว่ามีการฉ้อโกง

  • แจ้งผู้จัดการฝ่ายหรือติดต่อ Michelin Ethics Line
  • ดึงผู้อำนวยการฝ่ายรักษาความปลอดภัยระดับภูมิภาค ซึ่งเป็นบุคคลเดียวที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการสืบสวนข้อเท็จจริงเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเป็นระบบ

เมื่อการฉ้อโกงได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นจริง

  • ระบุจุดอ่อนในระบบควบคุมภายในองค์กรและดำเนินการแก้ไข
  • แจ้งหัวหน้างานถึงกลไกการฉ้อโกงเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกรณีเดียวกันขึ้นอีกในหน่วยงาน
  • ลงโทษพนักงานผู้กระทำการฉ้อโกงโดยปรึกษาแผนกบุคคล

สิ่งที่ไม่ควรทำ

เพื่อป้องกันการฉ้อโกง

  • ลัดขั้นตอนเพราะคนอื่นก็ทำเช่นนี้
  • เปิดเผยรหัสผ่านที่ใช้สำหรับเข้าถึงระบบข้อมูลให้บุคคลที่สามทราบ

กรณีสงสัยว่ามีการฉ้อโกง

  • พยายามสืบสวนข้อเท็จจริงด้วยตนเอง

 

 

 

 

 

 

 

 

กรณีตัวอย่าง #1

ซัพพลายเออร์รายหนึ่งขอให้คุณสั่งจ่ายเงินตามใบวางบิลให้อย่างเร่งด่วนไปยังบัญชีธนาคารใหม่ โดยมีรายละเอียดสำหรับติดต่อแนบมาด้วย คุณควรทำอย่างไร

การฉ้อโกงหลายกรณีกระทำโดยบุคคลที่แอบอ้างว่าเป็นซัพพลายเออร์

คุณควรแจ้งให้ผู้จัดการฝ่ายทราบ และทำตามขั้นตอนของแผนกจัดซื้อเพื่อยืนยันว่าซัพพลายเออร์ได้ส่งคำขอดังกล่าวจริง

กรณีตัวอย่าง #2

คุณเป็นรายเดียวที่ได้รับอีเมลลงนามจากผู้บริหารของมิชลินแจ้งขอข้อมูลที่มีความอ่อนไหว คุณควรตอบกลับหรือไม่

คำขอที่ผิดปกติ แม้จะเป็นคำขอภายในองค์กรก็ตาม อาจเป็นสัญญาณของการฉ้อโกงที่เกิดจากการสวมรอยเป็นผู้อื่น (Identity Theft Fraud) คุณควรแจ้งเรื่องไปยังแผนกรักษาความปลอดภัยของหน่วยงานเพื่อให้ดำเนินการกับเรื่องนี้อย่างเหมาะสม

กรณีตัวอย่าง #3

ผู้จัดการฝ่ายขอให้คุณยกยอดบัญชีค่าใช้จ่ายรายการหนึ่งไปไว้ในปีถัดไป (ยกตัวอย่างเช่น มูลค่าสินค้าที่ขายไม่ได้หรือใช้ไม่ได้ซึ่งจะต้องถูกนำไปทำลาย) คุณควรทำอย่างไร

คุณควรปฏิเสธที่จะทำตามคำขอนั้น และเตือนให้ผู้จัดการฝ่ายทราบถึงกฎระเบียบด้านการบัญชีและระเบียบการของกลุ่มมิชลิน หากผู้จัดการฝ่ายยังคงยืนยันให้ทำตามคำขอของเขา ควรติดต่อผู้จัดการสายงาน (Functional Manager) ของคุณ หากสถานการณ์ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ควรร้องเรียนผ่าน Ethics Line